25 มกราคม 2553

เคล็ดลับทำให้ดอกไม้ในแจกันอยู่ได้นาน


สำหรับเพื่อน ๆ ที่ชื่นชอบดอกไม้ หรืออาจจะมีใครให้มาแล้วน้ำมาใส่แจกันไว้ที่บ้านหรือว่าที่โต๊ะทำงาน แต่พอใส่ไว้ไม่นานดอกนั้นที่แสนสวยก็เริ่มจะเหี่ยวไม่สวยงานเหมือนตอนที่ได้มาใหม่ ๆ กันใช่ไหมจ๊ะ

แหม!...เสียดายจังเลย ดอกไม้สวย ๆ อยู่ได้ไม่ทนเลยเป็นเพราะอะไรกันวันนี้มีเคล็ดลับดี ๆ มาเล่าให้เพื่อน ๆ อ่านกันเผื่อจะนำไปใช้ได้

โดยวิธีการ คือ ให้หย่อนเหรียญสลึงลงไปในแจกัน ส่วนผสมที่เป็น ทองแดง ในเหรียญ จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของ เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ดอกไม้เหี่ยวเฉา เพียงเท่านี้ดอกไม้ของคุณก็จะสดชื่นเหมือนตัดดอกใหม่และสวยอยู่บนแจกันได้นานขึ้น

ทำไมแต่งงานต้องมีเพื่อนเจ้าสาว


เพื่อนเจ้าสาวเขาก็มีไว้ยืนเฉย ๆ นั่นแหละเพราะสมัยก่อนผู้หญิงไทยมักถูกเลี้ยงให้อยู่แต่ในบ้านจึงออกจะเก้อเขินหรือตกประหม่าเมื่อต้องออกงานสังคมโดยเฉพาะในพิธีสมรสซึ่งเป็นวันสำคัญของชีวิตการมีเพื่อนเจ้าสาวจึงทำให้สาวเจ้าอุ่นใจและไม่เคอะเขินจนเป็นลมไปเสียก่อน---นี่ว่าตาม concept แบบไทย ๆ

ส่วนทางตะวันตกในยุคโบราณนั้นเจ้าสาวกับเพื่อนเจ้าสาวมองดูเหมือนกันมากจนแทบจะแยกไม่ออกเจ้าสาวเลือกเพื่อนเจ้าสาวที่รูปร่างหน้าตาคล้ายเธอที่สุดและในวันงานเจ้าสาวกับเพื่อนเจ้าสาวก็ยังแต่งตัวด้วยชุดที่เหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน

ความเหมือนนี้เป็นอุบายที่คนโบราณคิดขึ้นเพื่อลวงให้วิญญาณชั่วร้ายสับสนเนื่องจากเชื่อกันว่าวิญญาณชั่วร้ายอาจริษยาในความสุขและโชคลาภที่กำลังจะมาสู่เจ้าสาวดังนั้นเจ้าสาวจึงแวดล้อมตัวเองด้วยเพื่อนเจ้าสาวซึ่งเหมือนเธอราวกับแกะ ยิ่งเพื่อนเจ้าสาวมีจำนวนมากเท่าใด ยิ่งประกันความปลอดภัยของเจ้าสาวเพิ่มขึ้นเท่านั้น(คล้ายกับคติความเชื่อของคนไทยที่ว่า “คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย”)

ตามกฎของอาณาจักรโรมัน การแต่งงานจำต้องมีสักขีพยาน ๑๐ คน นักประวัติศาสตร์บางคนจึงเชื่อว่า ธรรมเนียมเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวในปัจจุบันน่าจะสืบทอดมาจากยุคโรมันโบราณ

ในเวลาต่อมาเพื่อนเจ้าบ่าวเพื่อนเจ้าสาวมีภารกิจเพิ่มขึ้นโดยต้องทำหน้าที่บอดี้การ์ดให้แก่คู่สมรสด้วย ทั้งนี้ดังปรากฏหลักฐานว่าในสมัยกลางนั้นถือเป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่ชายผู้หมายปองเจ้าสาวแต่ไม่สมหวังมักพาสมัครพรรคพวกบุกเข้าชิงตัวเจ้าสาวไปในระหว่างพิธีแต่งงาน

เชื่อกันว่าหญิงสาวผู้ทำหน้าที่เป็นเพื่อนเจ้าสาวนั้นจะนำทั้งลางดีและลางร้ายมาสู่ตนเอง ตัวอย่างเช่น

ถ้าเธอสะดุดล้มระหว่างทางเดินไปยังแท่นพิธี เธอจะหมดโอกาสแต่งงานโดยสิ้นเชิงและถ้าหญิงสาวคนใดทำหน้าที่เป็นเพื่อนเจ้าสาวครบสามครั้งเธอต้องอยู่เป็นโสดไปตลอดชีวิตยกเว้นแต่ว่าเธอจะทำหน้าที่เพื่อนเจ้าสาวอีกสี่ครั้งรวมเป็นเจ็ดครั้งทั้งนี้เพราะสำหรับผู้ที่เชื่อถือโชคลางแล้วเลขเจ็ด---จำนวนวันของสัปดาห์ถือเป็นเลขนำโชคเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงของระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์

ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อถือโชคลางก็แย้งว่าสำหรับหญิงสาวผู้บากบั่นทำหน้าที่เป็นเพื่อนเจ้าสาวมาถึงเจ็ดครั้งเจ็ดคราแล้วการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อตัวเธอนั้นย่อมต้องเป็นไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน

11 มกราคม 2553

ทำไมเรียกผีเสื้อ ไม่ได้เป็นผีซะหน่อย


มีคนเคยสันนิษฐานคำว่าพระเสื้อเมืองทรงเมือง ว่า "เสื้อ" คำนี้คงจะเป็น "เชื้อ" คือเชื้อสาย พระเสื้อเมืองก็คือพระเชื้อเมือง โดยหมายถึงว่าเป็นผีเชื้อสายหรือเทวดาที่คุ้มครองรักษาเมืองตามลัทธิของไทยโบราณที่นับถือผีบรรพบุรษปู่ย่าตายาย
สำเนียงไทยทางเหนือบางเหล่าพูดเพี้ยนแปร่งออกเสียงเชื้อเป็นเซื่อหรือเสื้อ พระเชื้อเมืองจึงกลายเป็นเพระเสื้อเมือง เมื่อเขียนแล้วผู้เขียนได้พบท่านเจ้าคุณอนุมานราชธนท่านบอกว่าชอบกล ทำให้ท่านนึกถึงแมลงผีเสื้ออีกอย่างหนึ่งไทยทางเหนือเขาก็ถือกันว่าเป็นผี เพราะถ้าบินมามากๆแล้วทำให้เกิดความเจ็บไข้ตายกันได้
จากปากคำของท่านเสฐียรโกเศศอันเป็นที่เคารพนับถึอ ประกอบกับการได้อ่านพบอะไรมาบางอย่าง จึงทำให้สันนิษฐานว่าผีเสื้อนี้คงจะเป็นผีเชื้ออีกเหมือนกัน
ที่ผู้เขียนได้อ่านพบก็คือในพวกพม่าไทยใหญ่เขาถือกันว่าวิญญาณของคนเหมือนผีเสื้อโบยบินท่องเที่ยวไป ผีเสื้อจึงน่าจะตรงกับผีเชื้อ คือ ผีเชื้อสายปู่ย่าตายาย ตามที่กล่าวมานี้
จึงสันนิษฐานว่า ตัวแมลงที่เราเรียกกันว่าผีเสื้อนี้คงจะมีมูลมาจากไทยเดิมถือกันว่าเป็นวิญญาณของผีเชื้อสาย จึงได้เรียกกันว่าผีเชื้อ แต่หากสำเนียงต่างกัน ผีเชื้อจึงกลายเป็นผีเซื่อ (ถ้าให้ไทยทางเหนือและอีสานเรียกผีเสื้อเราจะฟังออกเสียงเป็นเซื่อชัดๆ) ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นผีเสื้อทำนองเดียวกับพระเชื้อเมืองเป็นพระเสื้อเมืองนั่นเอง