14 ธันวาคม 2552

**ก้างปลาติดคอทำงัยดี**

ก้างปลา ติดคอ ทำไงดี ?
ใครที่เคยมีประสบการณ์ “ก้างปลา” ติดคอ คงจะรู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดเป็นอย่างดีว่า การกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เป็นอย่างไร


แค่จะกลืนน้ำลายตัวเองสุดแสนจะทรมาน บางรายโชคดี ใช้วิธีดื่มน้ำเยอะ ๆ หรือ กลืนข้าวคำโต ๆ แล้วได้ผล แต่หลายคนใช้สารพัดวิธีก็ไม่หาย สุดท้ายต้องโร่ไปให้หมอช่วยเอาออกก็เยอะ ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลในเรื่องนี้จึงขอยกข้อมูลจาก ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.นพ.ปารยะ อธิบาย ว่า ก้างปลาติดคอพบได้ทุกช่วงอายุ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการศึกษาว่าเป็นช่วงอายุใดมากที่สุด และเป็นก้างปลาชนิดใดมากที่สุด แต่จากประสบการณ์ที่เจอมักจะเป็นปลาทู คงเป็นเพราะประชาชนนิยมบริโภคมากก็เป็นได้ ปลาอื่น ๆ ก็มีมาให้เห็นเหมือนกันแต่ค่อนข้างน้อย คนไข้ที่มาหาหมอส่วนมาก ก้างปลาติดคอมา 2-3 วันแล้ว ที่ติดคอปุ๊บมาหาหมอทันทีจะน้อย

ส่วนใหญ่จะรู้วิธีว่า ต้องดื่มน้ำมาก ๆ หรือกลืนข้าวคำโต ๆ ในบางรายก็ใช้ได้ผล เนื่องจากก้างปลาปักอยู่บริเวณตื้น ๆ พอกลืนข้าวก้างก็ติดลงไปกระเพาะ อาหาร สามารถขับถ่ายออกมาทางอุจจาระ แต่ถ้าก้างปักลึก การกลืนข้าวคำโต ๆ อาจไปกดก้างให้ปักลึกกว่าเดิม

ดังนั้นในรายที่อาการไม่ดีขึ้นจึงมาหาหมอ เราไม่เคยนับสถิติจำนวนคนไข้ในแต่ละปี แต่ที่ รพ.ศิริราช น่าจะมีคนไข้ประมาณ 2-3 รายต่อวัน ส่วนใหญ่มักจะมาตอนกลางคืนที่แผนกอุบัติเหตุ หมอทั่วไปตรวจดูแล้วไม่พบก้างปลา ก็จะมาปรึกษาหมอหู คอ จมูก อาการคนไข้ก้างปลาติดคอ คือ เจ็บคอ กลืนน้ำลายแล้วเจ็บ ส่วนใหญ่คนไข้จะชี้บอกได้เลยว่า เจ็บตรงไหน บวกกับการซักประวัติ ว่าไปทานแกงปลา ปลาทอด กลืนน้ำลายก็เจ็บทุกครั้ง อันนี้เป็นครูที่จะบอกว่ามีปัญหาก้างปลาติดคอคนไข้บางรายปล่อยทิ้งไว้นาน อาจมาด้วยอาการอักเสบ ติดเชื้อ มีหนอง ในช่องคอ โดยเฉพาะถ้าก้างปลาติดที่หลอดอาหาร ทิ้งไว้นาน ๆ ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจจะทำให้เกิดการอักเสบที่ผนังของหลอดอาหาร จนเกิดการทะลุของหลอดอาหาร เกิดการอักเสบติดเชื้อในช่องเยื่อหุ้มระหว่างหัวใจและช่องปอดได้ แต่พบได้น้อย

ตำแหน่งที่พบก้างปลาติดบ่อย คือ บริเวณต่อมทอนซิล บริเวณโคนลิ้น บริเวณฝาปิดกล่องเสียง บริเวณใกล้หลอดรูเปิดทางเดินอาหาร แพทย์หู คอ จมูก จะใช้กระจกเล็ก ๆ เหมือนกับหมอฟัน สวมเฮดไลต์ ที่ศีรษะ ส่องตรวจดู ส่วนใหญ่จะเจอ ก็ใช้อุปกรณ์คีบออกมาในบางรายก้างปลาอยู่ลึก คนไข้อาเจียนง่าย ไม่สามารถเอาก้างออกได้ จะพ่นยาชา ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วพยายามอีกที ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ทำอย่างไรก็ไม่ออก อาจต้องดมยาสลบ ให้คนไข้นอนแล้วลองดูอีกที แต่ส่วนใหญ่จะสามารถเอาก้างออกได้ที่ห้องตรวจเลย ที่ต้องดมยาสลบมีน้อยรายมาก

ก้างปลาติดคอทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่ ?
ผศ.นพ.ปารยะ กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่เคยเจอ ที่เจอมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง คือ เจอปักอยู่ที่หลอดอาหารแล้วทะลุออกมาที่คอ เนื่องจากก้างปลาเป็นวัสดุแปลกปลอม ร่างกายจะผลักมันออกมา บางคนทะลุหลอดอาหารมาถึงผิวหนังที่คอก็มี

มีคำแนะนำให้ฝานมะนาวเป็นชิ้นๆ นำมาอมหรือบีบน้ำมะนาวลงคอ ?
ผศ.นพ.ปารยะ กล่าวว่า สมัยก่อนเชื่อว่ามะนาวจะทำให้ก้างอ่อนลง แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน ก็พูดลำบาก เพราะถ้าก้างปลามีแคลเซียมเยอะ ก็คงยากที่มะนาวจะกัดกร่อนหรือสลายไปได้ ท้ายนี้ขอแนะนำว่า การกินปลาทุกครั้งควรมีสติ คือ เอาก้างออกก่อน แล้วกินช้า ๆ ค่อย ๆ เคี้ยว ค่อย ๆ กลืน เพราะจากที่เคยสอบถาม คนไข้ส่วนใหญ่ มักจะกินไปคุยไป ไม่ทันได้ดูว่า ปลาที่ตักใส่ปากมีก้างหรือไม่ พอรีบเคี้ยวรีบกลืน
ก็เลยทำให้ก้างติดคอ


-----------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น